ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 มีการระบาดของไข้มาลาเรีย ทั้งในเอเชีย ละตินอเมริกา และโดยเฉพาะแอฟริกา ประชากรราว 350-500ล้านคน อาศัยอยู่ในพื้นที่ ๆ มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากไข้มาลาเรีย ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากไข้มาลาเรีย ประมาณ 1.5 ล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่าห้าปี และสตรีมีครรภ์
ในปี 1998 โครงการ Roll Back Malaria ได้ถือกำเนิดขึ้น โดยความร่วมมือกันระหว่าง องค์การอนามัยโลก ยูนิเซฟ สำนักงานโครงการเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และธนาคารโลก ทำหน้าที่ประสานงานในระดับนานาชาติเพื่อร่วมมือกันกำหนดมาตรการที่จำเป็นในการต่อสู้กับไข้มาลาเรีย ในปัจจุบันโครงการดังกล่าวก่อให้เกิดความร่วมมือกันทั่วโลกอย่างกว้างขวางระหว่างองค์การระหว่างประเทศ รัฐบาล ภาคธุรกิจเอกชน เอ็นจีโอ มูลนิธิ ฯลฯ
องค์การอนามัยโลกซึ่งมีบทบาทสำคัญในการให้คำแนะนำทางวิชาการในการป้องกันและกำจัดโรคภัยไข้เจ็บ ได้ให้ความสำคัญในการรณรงค์ให้ประชาชนป้องกันตนเองด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ถูกยุงกัด ได้แก่
- นอนในมุ้งเพื่อป้องกันยุง (ยุงก้นปล่อง – Anopheles)กัด ซึ่งเป็นพาหะนำโรคมาลาเรียมาสู่คน
- การสวมเสื้อผ้าปกปิดร่างกายให้มิดชิด
- การใช้ยาทากันยุงกัด (Mosquito repellent)
- การใช้ยาจุดกันยุง (Mosquito coils and sticks)
- การใช้ตาข่ายกันยุงกัด หรือ การใช้มุ้งลวด
ในบรรดาวิธีการต่าง ๆ การนอนในมุ้งเป็นมาตรการที่ได้ผลดีที่สุดและขณะเดียวกันเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด อย่างไรก็ตามพบว่าแม้ว่ามุ้งโดยทั่วไปราคาไม่แพง แต่ประชาขนกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะในประเทศยากจน ไม่มีเงินพอที่จะซื้อมาใช้ได้ องค์กร/ภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องจึงต้องจัดงบประมาณเพื่อจัดซื้อและแจกจ่ายให้ฟรีกับประชาชนเหล่านั้น
การผลิตมุ้งในช่วงเกือบสองทศวรรษได้พัฒนาไปมาก ทั้งในเรื่องของการใช้เส้นใยแบบใหม่ ๆ และการคิดค้นสารเคมีที่ออกฤทธิ์ไล่หรือฆ่ายุง ในการเคลือบมุ้ง และล่าสุดคือการทำให้สารเคมีที่เคลือบมุ้งมีความคงทนต่อการซักล้าง และสารออกฤทธิ์คงทนยาวนาน ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า “Long Lasting Insecticidal Net – LLIN” ผลิตภัณฑ์ LLIN จะต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานขององค์การอนามัยโลกที่เรียกว่า “WHO Pesticide Evaluation Scheme – WHOPES” ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพทางชีวภาพต่อแมลงที่เป็นพาหะนำโรค และความปลอดภัยต่อผู้ใช้รายละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติเฉพาะทางเทคนิคของมุ้ง สารเคมี (ทางสาธารณสุข) ที่ใช้ และคุณสมบัติของมุ้ง LLIN จะได้ทยอยเขียนมาลงบทความในตอนต่อ ๆ ไป