หน้าหลัก > สาระน่ารู้ > ท่านทราบไหมว่า มุ้งที่ดูแสนจะธรรมดา แต่มีคุณสมบัติเฉพาะทางเทคนิคหลายประการ
ท่านทราบไหมว่า มุ้งที่ดูแสนจะธรรมดา แต่มีคุณสมบัติเฉพาะทางเทคนิคหลายประการ
Images/Blog/n79o5TTh-BedinBungalow.jpg
เขียนโดย mongsuai เมื่อ Mon 04 Dec, 2017
Like

บทความโดย: Pairote 

ในปี 1997 ขณะที่ผู้เขียนทำงานให้กับบริษัทการค้าข้ามชาติของญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง ได้รับคำสั่งจากบริษัทแม่ ให้หาบริษัทผลิตมุ้งในประเทศ เพื่อขอราคาไปประมูลการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และมุ้งกันยุงให้แก่ประเทศฟิลิปปินส์ ภายใต้โครงการความช่วยเหลือแบบทวิภาคีของรัฐบาลญี่ปุ่นต่อรัฐบาลฟิลิปปินส์ มุ้งที่ให้จัดหาจะมีคุณสมบัติเฉพาะทางเทคนิค (Technical Specification) หลายประการ ในขณะนั้นผู้เขียนไม่มีความรู้เกี่ยวกับสิ่งทอและโดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้เกี่ยวกับมุ้งเป็นการเฉพาะ หลังจากอ่าน Specification แล้วก็ไม่รู้เรื่อง ได้แต่นึกในใจ “อะไรนะ มุ้งที่ดูแสนธรรมดา ต้องมี Specification กำหนดด้วยหรือนี่” 

ดังที่เคยเขียนในบทความก่อนหน้านี้ ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากโรคมาลาเรีย ถือว่าเป็นปัญหาระดับต้น ๆ ของโลก องค์การระหว่างประเทศ รัฐบาล ภาคธุรกิจเอกชน เอ็นจีโอ มูลนิธิ สมาคมฯลฯ ได้ร่วมมือกันในการจัดงบประมาณ เพื่อต่อสู้กับโรคมาลาเรีย เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตให้ได้ 50% ภายในปี ค.ศ. 2015 การใช้มุ้งกางนอนถือเป็นมาตรการหนึ่งที่สำคัญในการป้องกันโรค แต่เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ยังยากจน ไม่สามารถจัดซื้อมุ้งที่มีขายอยู่ทั่วไปภายใต้กลไกทางการตลาดปกติได้ หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงจำเป็นต้องเข้ามาแทรกแซงกลไกทางการตลาด โดยการจัดงบประมาณมาเพื่อจัดซื้อมุ้งเพื่อแจกจ่ายให้ฟรี หรือจ่ายเงินอุดหนุนให้บางส่วน

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานผู้จัดซื้อได้ซื้อมุ้งจากผู้ผลิต/ จำหน่าย เป็นจำนวนมาก และได้แจกจ่ายไปยังประชาชนมาเป็นเวลาหลายปี แต่ยังไม่มีหน่วยงาน/ สถาบันใดกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์สำหรับผ้ามุ้งและมุ้งสำหรับกางนอนขึ้นมาเป็นการเฉพาะ ผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในท้องตลาดจึงมีความแตกต่างกันทั้งในแง่ของวัสดุที่นำมาถักทอ วิธีการถักทอ คุณสมบัติทางกายภาพ ขนาด สี และ อื่น ๆ ดังนั้น หน่วยงานผู้ซื้อจึงมีปัญหาที่ไม่สามารถเปรียบเทียบราคาที่เสนอระหว่างผู้ผลิต/ผู้จำหน่วยต่าง ๆ และรวมถึงไม่สามารถควบคุมคุณภาพสินค้าได้ นอกจากนั้น ผู้ผลิต/ผู้จัดจำหน่ายก็ประสบปัญหาว่าหน่วยงานผู้จัดซื้อแต่ละองค์กร/ สถาบัน มีความต้องการที่แตกต่างกันไป และบ่อยครั้ง กำหนดคุณสมบัติเฉพาะทางเทคนิคที่แย้งกันเอง การกำหนดมาตรฐานเบื้องต้นจะช่วยส่งเสริมให้มีการปรับปรุงคุณภาพสินค้าและช่วยให้เกิดการยอมรับจากผู้ใช้ 

ดังนั้น องค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟ จึงได้จัดประชุมเพื่อกำหนดมาตรฐานเบื้องต้นสำหรับผ้ามุ้งและมุ้งกางนอน ในระหว่างวันที่ 8-9 มิถุนายน 2000 ที่องค์การอนามัยโลก สำนักงานใหญ่ กรุงเจนีวา โดยเชิญผู้แทนจากผู้ผลิตมุ้ง หน่วยงานผู้จัดซื้อประเภทองค์กร เช่น องค์การอนามัยโลก ยูนิเซฟ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ สถาบันทดสอบสิ่งทอจากอังกฤษ ผรั่งเศส และโปรตุเกส นายแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ ฯลฯ เข้าร่วมประชุม

ที่ประชุมได้กำหนดมาตรฐานชั่วคราวสำหรับผ้ามุ้งและมุ้งกางนอนไว้ดังนี้


1. เส้นใยที่นำมาผลิตมุ้ง 

สมัยก่อนมุ้งทำมาจากผ้าลินิน, Raffia (เส้นใยจากปาล์ม) และปอ ปัจจุบันมุ้งทำมาจากเส้นใยธรรมชาติ เช่นฝ้าย(cotton) หรือเส้นใยสังเคราะห์ เช่น ไนล่อน โพลีเอสเตอร์ และโพลีเอธิลีน เส้นใยที่เหมาะสมพิจารณาจากต้นทุนวัตถุดิบ (กล่าวคือ ไม่แพงเกินไป) คุณสมบัติเรื่องความคงทน เส้นใยสังเคราะห์มีความคงทนกว่า cotton ตลอดจนคุณสมบัติอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับการพัฒนาให้เป็นมุ้ง Long Lasting Insecticidal Net – LLIN ซึ่งจะกล่าวถึงรายละเอียดในตอนต่อไป

ที่ประชุมสรุปว่า เส้นใยที่มีความเหมาะสมมีอยู่ 2 ชนิด คือ โพลีเอสเตอร์ และโพลีเอธิลีน อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติของเส้นใยสองชนิดนี้ มีข้อดี/ข้อเสีย ดังนี้คือ
#โพลีเอสเตอร์ เส้นใยโพลีเอสเตอร์ 1 เส้น ประกอบไปด้วยเส้นใยขนาดเล็ก (multi-filaments) จำนวนประมาณตั้งแต่ 36-48 filaments ต่อเส้น ข้อดีคือเวลาผู้ใช้สัมผัสมุ้งจะรู้สึกนุ่มน่าใช้และพลิ้วไหว ข้อเสียคือความแข็งแรงจะด้อยกว่า โพลีเอธิลีน เล็กน้อย
#โพลีเอธิลีน เป็นเส้นด้ายเดี่ยว (mono-filament) เมื่อถักเป็นมุ้งแล้วจะแข็งกระด้าง แต่มีข้อดีคือเส้นใยแข็งแรงและใช้งานได้นานกว่าโพลีเอสเตอร์
สำหรับไนล่อนไม่นิยมนำมาผลิต เพราะราคาแพง ผุ่นและสิ่งสกปรกอื่น ๆ เกาะติดง่าย คนส่วนใหญ่เมื่อเห็นมุ้งโพลีเอสเตอร์ มักจะเข้าใจว่าเป็นมุ้งไนล่อน

 

2. ขนาดของเส้นใย (ดีเนียร์*)

ถ้าเป็นโพลีเอสเตอร์ แนะนำให้ใช้ 75 หรือ 100 ดีเนียร์ แต่ถ้าเป็นโพลีเอธิลีน เส้นใยขนาดเล็กสุดที่ผลิตได้จะประมาณ 150 ดีเนียร์ 

หมายเหตุ ดีเนียร์เป็นหน่วยวัดน้ำหนักของเส้นใยที่ความยาว 9,000 เมตร ตัวเลขดีเนียร์ยิ่งสูง ขนาดของเส้นใยจะใหญ่ขึ้น มุ้งที่ผลิตมาเพื่อกางนอนป้องกันยุงกัด จะใช้เส้นใย 75 หรือ 100 ดีเนียร์ เพื่อความแข็งแรง คงทน แต่หากการผลิตมุ้งเพื่อการประดับ ตกแต่งห้องนอน อาจใช้ 40 หรือ 50 ดีเนียร์แทน เพราะจะทำให้มุ้งมีน้ำหนักเบา พลิ้วไหว 

 

3. กำหนดวิธีการผลิตโดยการถักผ้าแนวดิ่ง (WARP KNITTING)

คือ วิธีการผลิตผ้าโดยการถักแบบหนึ่งซึ่งห่วงจะเกิดขึ้นในทิศทางเดียวกับความยาวของผ้า จากเส้นด้ายชุดเดียวหรือหลายชุดก็ได้และมีลักษณะเฉพาะตรงที่เส้นด้ายแต่ละชุดที่ป้อนเข้าไปเกือบจะเป็นเส้นเดียวกันกับทิศทางที่เกิดเป็นผ้า ไม่แนะนำให้ผลิตมุ้งโดยการทอ เพราะเมื่อผ้าขาดเป็นรู จะทำให้เส้นด้ายขาดลุ่ย และรอยขาดจะขยายใหญ่ขึ้น และซ่อมแซมได้ยาก

 

4. กำหนดจำนวนช่องโปร่ง (Mesh)

ขั้นต่ำที่ 156 (12x13) ช่องต่อตารางนิ้ว ขนาดช่องโปร่งไม่ควรใหญ่หรือเล็กเกินไป หากใหญ่เกินไปยุงหรือแมลงที่เป็นพาหะนำโรคอาจมุดช่องเข้าไปกัดคนนอนได้ หรือหากเล็กเกินไป ทำให้อากาศถ่ายเทได้ยาก ทำให้ร้อนอบอ้าว ทั้งนี้ ผู้ใช้ส่วนใหญ่ (ประเทศด้อยพัฒนา) ไม่ได้นอนห้องแอร์

สำหรับกระทรวงสาธารณสุขของไทย กำหนดจำนวนช่องโปร่ง 196 ช่อง (14x14)

 

5. กำหนดการเปลี่ยนแปลงขนาด (ยืดหรือหด) หลังการซักไม่เกิน +/- 10%

สามารถควบคุมได้ในขั้นตอนการอบ-ผนึกผ้าด้วยความร้อน (heat-set) โดยใช้เครื่อง Stenter

ผ้ามุ้งที่มีการเปลี่ยนแปลงขนาดเกินมาตรฐานที่กำหนด อาจทำให้ขนาดช่องโปร่งขยายขึ้น หรือหดลง ขนาดของมุ้งกว้าง x ยาว x สูง ก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย

 

6. กำหนดความแข็งแรงของผ้าถักในการต้านแรงดันทะลุ (Bursting strength) ขั้นต่ำ 250 กิโลปาสคาล

ผู้ผลิตจะทดสอบความแข็งแรงฯ ในห้องปฏิบัติการโดยใช้เครื่อง Bursting tester

 

7. มาตรฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยจากการถูกไฟไหม้ (Fire safety) ตามมาตรฐาน Class 1 (16 CFR part 1610-CS 191-53)

มุ้งที่ทำจากโพลีเอสเตอร์ และโพลีเอธิลีน มีคุณสมบัติติดไฟได้ แต่ไฟไม่ไหม้ลุกลาม ทำให้มีความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้ในประเทศด้อยพัฒนา ที่ยังใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าดหรือเทียนไขในเวลาค่ำคืน

นอกจากนั้น ยังมีการกำหนดมาตรฐานอื่น ๆ อีกเช่น กรณีที่เป็นมุ้งย้อมสี ต้องมีความคงทนของสีต่อการซักอย่างน้อย 4 ครั้ง รวมถึงมุ้งต้องติดป้ายแนะนำวิธีการใช้และการดูแลรักษา เป็นต้น ซึ่งจะไม่ขอกล่าวในที่นี้

หมวดหมู่
ความคิดเห็น (0)
ก่อนหน้า 1 ถัดไป
ร้านค้าออนไลน์ และ ขายของออนไลน์ โดย © 2006-2024 Vevo Systems Co., Ltd.